LOGO Goo Invest
Categories
ข่าวหุ้น

ข่าว หุ้น ธุรกิจ วันที่ 27 ตุลาคม 2564

ข่าวหุ้น เศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน Goo Invest Trade

ข่าวหุ้นล่าสุด ข่าวเด่นวันนี้ วันที่ 27 ตุลาคม 2564

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวปรับตัวดี ดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 15.33%

   กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงาน ยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 14% สู่ระดับ 800,000 ยูนิตในเดือนก.ย. ที่ผ่านมาว่าเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 760,000 ยูนิต ส่วนราคาเฉลี่ยของบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 18.7% สู่ระดับ 408,800 ดอลลาร์ในเดือนก.ย.ในขณะที่ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับแรงหนุนจากผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 113.8 ในเดือนต.ค. จากระดับ 109.8 ในเดือนก.ย. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง

   ในขณะเดียวกันฝั่งของนักลงทุนจับตาดูผลประกอบการของบริษัทอัลฟาเบท ทวิตเตอร์ และไมโครซอฟท์ ซึ่งจะมีการเปิดเผยหลังตลาดปิดทำการ ซึ่งข้อมูลจากเรฟินิทีฟ(Refinitiv) ระบุว่า บริษัทจำนวน 119 แห่งในดัชนี S&P 500 รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 แล้ว  84% ในจำนวนนี้มีผลประกอบการสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ รวมถึงนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าบริษัทจดทะเบียนจะมีการขยายตัวของกำไรในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นถึง 35% นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2564

   ทั้งนี้ในส่วนของดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ได้ปิดที่ 35,756.88 จุด เพิ่มขึ้น 15.73 จุด หรือ +0.04%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,574.79 จุด เพิ่มขึ้น 8.31 จุด หรือ +0.18% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,235.71 จุด เพิ่มขึ้น 9.01 จุด หรือ +0.06% ซึ่งหุ้น 9 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น 0.68% หลังราคาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการที่สดใสของบริษัทจดทะเบียน โดยบริษัทเจเนอรัล อิเลคทริค (GE) เปิดเผยกำไรไตรมาส 3 ที่ระดับ 57 เซนต์ ต่อหุ้น สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 43 เซนต์ ต่อ หุ้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวช่วยหนุนหุ้น GE พุ่งขึ้น 2.03% ในขณะที่หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นเช่นกัน

ขอบคุณ : ฐานเศรษฐกิจ

ส่งออกไทยโตขึ้น 17% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

   นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่าปีนี้ระหว่างม.ค. – ก.ย. มีมูลค่ารวม 199,997 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.5% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่ารวม 197,980 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรก ไทยเกินดุลการค้า 2,017 ล้านดอลลาร์สำหรับสินค้าสำคัญใน 5 อันดับแรก ที่ช่วยผลักดันการส่งออก ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัว 114.4% ยางพารา ขยายตัว 83.6% เคมีภัณฑ์ ขยายตัว 55.8% เม็ดพลาสติก ขยายตัว 40.3% และคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 22.6% โดยการส่งออกของไทยเดือนก.ย. 64 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกในเดือนก.ย. 64 ขยายตัวได้ 14.8% โดยการส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย จากภาคการผลิตที่ฟื้นตัว การกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 และการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้ดี  โดยมีมูลค่า 23,036 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 17.1% การนำเข้า มีมูลค่า 22,426 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 30.3% ส่งผลให้ในเดือนนี้ไทยเกินดุลการค้า 610 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ 15.8% คิดเป็นมูลค่า 18,424 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัว 61%, เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 38.7%, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ ขยายตัว 32.8%, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 22.6% และแผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 16.3% โดยเหตุผลที่การส่งออกของไทยในเดือนก.ย. ขยายตัวได้ต่อเนื่อง มาจาก 5 ปัจจัยสำคัญ คือ

  1. .แผนส่งเสริมการส่งออก130 กิจกรรมในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนผู้ส่งออก ผ่านกลไก กรอ.พาณิชย์
  2. ภาพรวมเศรษฐกิจการค้าโลกเริ่มดีขึ้น โดยล่าสุด องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การค้าโลกปีนี้เป็น 10.8% จากเดิมที่ 8%
  3. .เงินบาทยังอ่อนค่า ซึ่งช่วยสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันด้านราคาให้กับสินค้าส่งออกของไทย
  4. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
  5. ศักยภาพของเอกชนผู้ส่งออกยังมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ที่แม้ต้องเจอกับปัญหาล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด แต่ยังสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

   ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ที่ 12.1% คิดเป็นมูลค่า 1,714 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ยางพารา 83.6% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 44.4% ข้าว 33.8% ผลไม้กระป๋องแปรรูป 29.3% และอาหารสัตว์เลี้ยง 23.6% และการส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ที่ 12.9% คิดเป็นมูลค่า 1,963 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ยางพารา 83.6% ลำไยสด 73.8% มะม่วงสด 55.9% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 44.4% และข้าว 33.8%

   ทั้งนี้ไทยพบว่าด้านตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่สามารถขยายตัวได้ดี นำโดยตลาดเอเชียใต้ ขยายตัว 69% ตลาดรัสเซีย และกลุ่ม CIS ขยายตัว 42.5% ตลาดแอฟริกา ขยายตัว 30.2% เป็นต้น ส่วนตลาดส่งออกหลักที่สำคัญ ยังขยายตัวได้ทุกตลาดเช่นกัน โดยตลาดสหรัฐ ขยายตัว 20.2% ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 13.2% และตลาดยุโรป ขยายตัว 12.6%

 

ขอบคุณ: สำนักข่าวอินโฟเควสท์

GBS เผยหุ้นเด่นกลุ่มอสังหาฯรับคลายกฎ LTV

    นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ กล่าวว่า หุ้นไทยสัปดาห์นี้ แกว่งตัว Sideway ออกข้างยังขาดปัจจัยใหม่หนุนตลาด โดยนักลงทุนต่างชาติในช่วง 3 เดือน ส.ค.-ต.ค.64 ที่ผ่านมามีการซื้อสุทธิ จำนวน 3.4 หมื่นล้านบาท หากพิจารณาจากยอด 7 เดือน ม.ค.-ก.ค.64กลับมียอดขายสุทธิสะสม จำนวน 5.6 หมื่นล้านบาท แนะนำกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นอสังหาริมทรัพย์ให้ ได้ประโยชน์จากธนาคารแห่งประเทศไทย  เพื่อคลายกฎ LTV เป็น 100% ชั่วคราวจนถึงสิ้นปี 2565 ซึ่งทำให้หุ้นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เน้นลงทุนหุ้นอสังหาฯขนาดใหญ่ P/E ต่ำ ได้แก่ LH, QH, AP, SPALI, SIRI, ORI, LALIN, PSH, LPN รวมทั้งหุ้นธีม Reopening Play ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่  MINT, ERW, CENTEL, AWC, SHR, AOT, AAV, BA หุ้นกลุ่มขนส่ง ได้แก่ BEM, BTS หุ้นกลุ่มห้างสรรพสินค้า ได้แก่ CPN, CRC, MBK หุ้นกลุ่มร้านอาหาร ได้แก่ AU, M, ZEN หุ้นกลุ่มค้าปลีก ได้แก่ CPALL, BJC และ MAKRO

    ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังทรงตัวในระดับสูงจากคาดการณ์อุปสงค์พลังงานที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุด การผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทาง และการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐที่ฟื้นตัวอย่างช้า ประกอบกับการ ส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มพลังงานช่วยพยุงตลาด แม้ว่านักลงทุนกังวลต่อการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดเริ่มหารือแนวทางปรับลด QE ฝ่ายวิจัยให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีที่ระดับ 1,620-1,660 จุด ในขณะที่ทิศทางการลงทุนทองคำและความกังวลเรื่องเงินเฟ้อของสหรัฐทำให้การวิเคราะห์ทองคำรวมถึงแนวโน้มของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี(bond yield) และดัชนีดอลลาร์ (dollar index) ทำให้ตลาดกลัวว่าธนาคารกลางสหรัฐจะใช้ไม้แข็งอย่างการขึ้นดอกเบี้ยที่อาจมาเร็วกว่าคาดหนุน bond yield เร่งตัวต่อเนื่อง โดยอาจทำให้มีบางช่วงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 5 เดือน ที่ระดับ 1.67% แต่ก็ไม่สามารถกดดันราคาทองคำได้ เนื่องจากดัชนีดอลลาร์ ที่ล่าสุดย่อตัวหลุดแนวรับบริเวณ 93.75 ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าและหนุนทองคำปรับตัวขึ้น

   อย่างไรก็ตามสำหรับสัปดาห์นี้ต้องจับตาการรายงานตัวเลข GDP ในช่วงไตรมาส 3/64 ของสหรัฐ ที่เฟดคาดการณ์ว่าอาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส ดังนั้นจึงประเมินกรอบทองคำในสัปดาห์นี้ 1,770-1,825 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ขอบคุณ : ประชาชาติธุรกิจ

คลังชี้ น้ำมันไทยไม่ได้แพงสุดในภูมิภาค

    นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าพลังงานเป็นแนวปฏิบัติสากล ซึ่งภูมิภาคอาเซียนเกือบทุกประเทศมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าพลังงานทั้งสิ้น โดยราคาสินค้าพลังงานของประเทศไทยอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน หากพิจารณาจากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 แล้ว อยู่ที่ประมาณ 29 บาทต่อลิตร ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 53 บาทต่อลิตร สปป. ลาวอยู่ที่ 31.50 บาทต่อลิตร กัมพูชาอยู่ที่ 30.24 บาทต่อลิตร ฟิลิปปินส์อยู่ 28.69 บาทต่อลิตร เมียนมาอยู่ 26.95 บาทต่อลิตร และมาเลเซีย (ผู้ส่งออกน้ำมัน) อยู่ที่ 17.42 บาทต่อลิตร

    โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้าและบริการ แต่จัดเก็บจริงที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้าและบริการ ไทยมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำที่สุดในภูมิภาค เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม OECD พบว่า อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยของกลุ่ม OECD สูงกว่าอัตราจัดเก็บจริงของไทยเกือบ 3 เท่า หรืออยู่ที่ร้อยละ 19.3 ดังนั้น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้าและบริการ จึงอาจไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนที่สูงเกินกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก

   ด้านการจัดเก็บภาษีทั้งภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐ โดยในปีงบประมาณ 63 สัดส่วนภาษีสรรพสามิตและภาษี VAT คิดเป็นเกือบร้อยละ 40 ของรายได้รัฐบาลรวม ซึ่งการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่รัฐบาลจะสามารถนำมาใช้ในการบริหารประเทศแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจสังคม ได้ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการค้าขายและลดต้นทุนการขนส่ง การดำเนินมาตรการส่งเสริม SMEs การดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 การให้บริการด้านสาธารณสุข เป็นต้น

   สำหรับการเก็บภาษีและเงินกองทุนของภาครัฐสูงถึงร้อยละ 49 ของราคาน้ำมันต่อลิตรที่ประชาชนจ่ายนั้นไม่ตรงตามความเป็นจริง เป็นการกล่าวอ้างนำสัดส่วนของราคาน้ำมันเบนซินปกติ มาอ้างใช้กับน้ำมันทุกประเภท หากเป็นน้ำมันประเภทอื่นเช่น เบนซินแก๊สโซฮอล ดีเซล LPG เป็นสัดส่วนของภาษีและเงินกองทุนจะอยู่ในสัดส่วนเพียงร้อยละ 6 – 23 เท่านั้น รวมถึงน้ำมันบางประเภท เช่น เบนซิน 95 E85 และ LPG สัดส่วนการเก็บภาษีและเงินกองทุนติดลบ เนื่องจากได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมัน

   จากข้อมูลราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 น้ำมันดีเซล มีราคาหน้าโรงงานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75 ถึง 87 ของราคาขายปลีก ในส่วนของภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 ถึง 16 ของราคาขายปลีก ส่วนค่าการตลาดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 – 3 ของราคาขายปลีก และภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าทุกประเภทที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้า โดยกลุ่มราคาน้ำมันเบนซิน มีราคาหน้าโรงงานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56 ถึง 100 ของราคาขายปลีก ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ -25 ถึง 35 ของราคาขายปลีก ค่าการตลาดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 – 18 ของราคาขายปลีก และภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าทุกประเภทที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้า รวมถึงกลุ่มราคา LPG ราคาหน้าโรงงานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 157 ของราคาขายปลีก ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ -81 ของราคาขายปลีก เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีการอุดหนุนราคาดังกล่าวอยู่ LPG ค่าการตลาดอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 17 ของราคาขายปลีกและภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าทุกประเภทที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้า

    ทั้งนี้คลังได้เปิด 6 โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมัน อัตราภาษีและการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันแต่ละชนิดต่างกัน พร้อมเทียบราคาเพื่อนบ้าน ชี้ไทยไม่ได้ใช้น้ำมันแพงสุดในภูมิภาค โดยปัจจุบัน โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง แบ่งออกเป็น 6 องค์ประกอบ ได้แก่

 

  1. ราคาหน้าโรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ
  2. ภาษีสรรพสามิตที่อัตราประมาณ 0.975 ถึง 6.5 บาทต่อลิตร ขึ้นกับประเภทน้ำมัน ซึ่งจัดเก็บบนหลักการด้านสิ่งแวดล้อม
  3. ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่นที่ร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต เพื่อเป็นรายได้ท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่
  4. ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ซึ่งเป็นการจัดเก็บสินค้าเกือบทุกประเภท
  5. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จัดเก็บประมาณ -17.6143 ถึง 6.58 บาทต่อลิตร ขึ้นกับประเภทน้ำมัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ
  6. ค่าการตลาดซึ่งเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ

 

ขอบคุณ : ฐานเศรษฐกิจ

การเมือง กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ ชี้GDPโต 0.6%

ธนาคารแห่งประเทศไทย  เปิดเผยผลสำรวจนักวิเคราะห์มองว่า ภาคการผลิตมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็ว จากการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าแต่ยังขาดแคลนในเรื่องของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ค่าระวางเรือและราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัจจัยภายในประเทศ อาทิ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ความไม่แน่นอนทางการเมือง กดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง

 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 0.6% ซึ่งในไตรมาส 4 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากนโยบายด้านการคลัง รวมถึงการฉีดวัคซีนที่คืบหน้าไปมาก ทำให้มาตรการต่างๆทยอยผ่อนคลายส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศเริ่มฟื้นตัว โดยเศรษฐกิจจะกลับปกติภายในปี 65 ซึ่งประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิต หลังจากเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ โดยจำนวนผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็มเกิน 70% ของประชากรจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการกลับมาใช้ชีวิตปกติของประชาชน

 

ขอบคุณ: หนังสือพิมพ์มติชน

Categories
ข่าวหุ้น

ข่าว หุ้น ธุรกิจ 17 ตุลาคม 2564

ข่าวหุ้น เศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน Goo Invest Trade

ข่าวหุ้นล่าสุด ข่าวเด่นวันนี้ วันที่ 17 ตุลาคม 2564

ROH ลดพาร์จาก 10 ต่อ หุ้น เหลือ 1 บาทต่อหุ้น

บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด  (มหาชน) หรือ ROH   ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) โดยบริษัท มีมติอนุมัติ เปลี่ยนแปลงมูลค่าโดย ลดมูลค่าพาร์ จาก 10 บาทต่อหุ้น เหลือ 1 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้บริษัทมีจำนวนหุ้นเพิ่มเป็น 937.5 ล้านหุ้น  รวมถึงมีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 937.50 ล้านบาท เป็น  1,117.50 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 180 ล้านหุ้น เพื่อรองรับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP)  คือ Advanc Opportunities Fund ( AO Fund)และAdvanc Opportunities Fund 1( AO Fund 1)  ซึ่งประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจการเงินในประเทศสิงคโปร์

ในการเพิ่มทุนครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีสภาพคล่องมากขึ้นเนื่องจากเงินทุนหมุนเวียนที่ได้รับจากเงินเพิ่มทุน จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ในการประกอบธุรกิจของบริษัท เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการดําเนินธุรกิจและการขยายธุรกิจของบริษัทในอนาคต  รวมถึงสามารถเพิ่มฐานะทางการเงินเพิ่มความแข็งแกร่งและเสถียรภาพฐานะทางการเงินจากการดําเนินงานปกติในธุรกิจหลักปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งจะสร้างรายได้และกําไร เพิ่มเติมให้แก่บริษัท รวมถึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยเรื่องการแก้ไขคุณสมบัติการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัท (Free Float) ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ โดยนักลงทุนแต่ละรายเป็นบุคคลที่มีลักษณะความสัมพันธ์ และมีความเกี่ยวข้องกัน จึงนับรวมหุ้นของนักลงทุน2 รายเป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งนักลงทุนดังกล่าวจะไม่ส่งบุคคลใดๆ เข้ามาเป็นกรรมการในบริษัท  ทำให้นักลงทุนดังกล่าวถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน16.11% ของจำนวนหุ้นที่ออกชำระแล้วหลังจากการเพิ่มทุนจดทะเบียน ซึ่งจะกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 พ.ย.2564 และรายย่อยของบริษัท (Free Float) ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

 

ทั้งนี้บริษัทมีแผนใช้เงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทและเป็นเงินทุนเพื่อเตรียมตัวขยายธุรกิจหลักและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถสร้างฐานรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมสําหรับโอกาสทางธุรกิจอื่น ๆ ในอนาคตที่จะมาถึง นอกจากนี้การเพิ่มทุนยังเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเรื่องการแก้ไขคุณสมบัติการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้น

 

ขอบคุณ : กรุงเทพธุรกิจ

 

ธนชาต เปิดขายหุ้นกู้แปรสภาพ18-25 ต.ค.นี้

วันที่ 18-25 ต.ค. 64 Thanachart Fund Eastspring เปิดขายไอพีโอ (IPO) กองทุน Thanachart Eastspring Global Convertible Bond Fund กองทุนมีนโยบายมุ่งเน้นลงทุนในหุ้นกู้แปลงสภาพ ( Convertible Bond) ไม่ต่ำกว่า 80% ของพอร์ตลงทุนในรอบปีบัญชี พิเศษเฉพาะช่วงไอพีโอ (IPO) ลดค่าธรรมเนียมขาเข้า 0.5% สำหรับเงินลงทุนตั้งแต่ 1 ล้านบาท หากลงทุนตามเงื่อนไข

โดยมีทีมผู้จัดการกองทุนมืออาชีพบริหารกองทุนในลักษณะ Fund of Funds คาดว่าจะมุ่งลงทุนเฉพาะในสองกองทุนหลักคือ Calamos และ Lazard Asset Management ซึ่งเป็นผู้นำและมีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนระดับโลกในด้านหุ้นกู้แปลงสภาพ

สำหรับกองทุน Calamos Global Convertible Fund เน้นสร้างผลตอบแทนเทียบความเสี่ยงที่น่าพอใจตลอดวัฎจักรตลาด กองทุนใช้ประโยชน์จากทีมผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญที่มีมายาวนานหลายทศวรรษ และโครงสร้างการวิจัยเพื่อสร้างผลตอบแทนให้เหนือกว่าตลาดอย่างสม่ำเสมอ (Alpha) และบริหารความผันผวนให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ส่วนกองทุน Lazard Global Convertibles Investment Grade Fund จะสร้างผลตอบแทนให้เหนือกว่าดัชนี Refinitiv Global Focus Investment Grade Convertible โดยเน้นลงทุนในหุ้นกู้แปลงสภาพทั่วโลก ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุน (Investment Grade) ที่ออกโดยบริษัทเอกชน รัฐบาล หน่วยงานราชการ องค์กรภาครัฐ หรือองค์กรกลางที่เป็นอิสระจากรัฐบาลของประเทศ

 

นายพงศ์สรร ยอดเมืองเจริญ ผู้อำนวยการส่วนบริหารผลิตภัณฑ์ TMBAM Eastspring กล่าวว่า หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bonds) เป็นทางเลือกการลงทุนที่สร้างพอร์ตเติบโตภายใต้สภาวะตลาดผันผวน เพราะลักษณะของสินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงจำกัดแบบตราสารหนี้ แต่ก็มีโอกาสรับผลตอบแทนขาขึ้นในแบบของหุ้นด้วยความนิยมของหุ้นกู้แปลงสภาพ ทั่วโลกมีมาได้ระยะหนึ่งแล้ว สะท้อนผ่านขนาดตลาดที่สูงถึง 5.1 แสนล้านดอลลาร์ ที่กระจายอยู่ในสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย และกระจายอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี สินค้าฟุ่มเฟือย การแพทย์ และการเงิน รวมถึงเชื่อมั่นว่าการลงทุนในหุ้นกู้แปลงสภาพ เหมาะสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยความคืบหน้าในการปูพรมเร่งฉีดวัคซีน ส่งผลดีต่อการเปิดประเทศและช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ดีขึ้น ในแง่หนึ่งการลงทุนยังสามารถสร้างความยืดหยุ่นของพอร์ตต่อสภาวะผันผวนจากแนวโน้มการปรับลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร และด้วยประสบการณ์ของผู้จัดการกองทุนหลักที่มีความเชี่ยวชาญในสินทรัพย์ประเภทนี้ มาอย่างยาวนาน ดังนั้นเมื่อผสม Convertible bonds เข้ากับพอร์ตลงทุน จึงเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่เหนือกว่า

 

ทั้งนี้การผสมผสานระหว่างกองทุนหลัก Calamos และ Lazard ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถกระจายการลงทุนไปในตราสารหนี้แปลงสภาพในหลายหลายกลุ่มประเทศโดยเฉาะสหรัฐฯและยุโรปที่เป็นหัวหอกของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ หลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม และผสมผสานโอกาสสร้างผลตอบขาขึ้นจากตราสารพันธบัตรอัตราผลตอบแทนสูง (High Yield) จากบริษัทขนาดกลางที่มีศักยภาพ และลดทอนความผันผวนของพอร์ตลงทุนจากตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ Investment Grade

 

ขอบคุณ ประชาชาติธุรกิจ

 

3 หุ้นเด่น รับฟื้นตัวเศรษฐกิจ แข็งแกร่งไตรมาส 3

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แนะนำ 3 หุ้นเด่น KBANK รับอนิสงส์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ NER และ JMT เก็งงบฯ ไตรมาส 3 ปี 2564 โตแกร่ง

  1. หุ้น KBANK  โดยราคาเป้าหมาย 160 บาท คาดว่าได้รับอานิสงส์บวกจากเศรษฐกิจฟื้นตัว และการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้นใน 4Q64 รวมถึงมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งผสาน Valuation Gap ต่างจาก SCB มากเกินไป โดยปัจจุบัน KBANK เทรดที่ 0.7x 2021 P/BV และ 7.3% ROE ในขณะที่ SCB เทรดที่ 1.0x 2021 P/BV และ 8.0% ROE
  2.  หุ้น NER โดยราคาเป้าหมาย 9 บาท คาดว่ากำไรปกติ 3Q64 แข็งแกร่งที่ระดับ 521 ล้านบาท (+159.6%YoY) ทำสถิติใหม่เป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน และมีโอกาสในการ rerating ด้วยการยก P/E ratio สูงขึ้น จากการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ โดยได้เริ่มทยอยติดตั้งเครื่องจักรแล้ว ซึ่งตั้งเป้าผลิตและจำหน่ายในช่วง 1Q65
  3. หุ้นJMT โดยราคาเป้าหมาย 58 บาท คาดว่ากำไร3Q-4Q64 แข็งแกร่งกว่าตลาด และประเมินการเติบโตของกำไรสุทธิในปี 65 ที่ +67%YoY จะสามารถชดเชย Dilution 18% จากการเพิ่มทุนได้ และรักษาการเติบโตของ EPS เฉลี่ย (CAGR) 43% ในอีกสามปีข้างหน้า เราปรับใช้ราคาเหมาะสมปี 2565 ที่ 58 บาท (PEG 75x)

ทั้งนี้คาดจากตลาดหุ้นไทยระหว่างวันที่ 18-21 ต.ค.64 เคลื่อนไหวในกรอบ 1,625-1,650 จุด มีปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากภาครัฐฯ ความคืบหน้าแผนการเปิดประเทศ และการรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม อาจมีแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ

 

ขอบคุณ : กรุงเทพธุรกิจ

4. กระทรวงพาณิชย์ ประชุมทางไกลร่วมสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน พร้อมเปิดประเทศ

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์  เป็นผู้แทนกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมการหารือผ่านระบบการประชุมทางไกล กับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S. – ASEAN Business Council: USABC) นายไมเคิล มิคาลัค รองประธานกรรมการอาวุโสและกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคของ USABC พร้อมด้วยผู้แทนจาก 12 บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมสุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ขนส่ง การผลิต การเงิน ประกอบด้วย Abbott, Adobe, Amazon, Citi, Facebook, FedEx, Ford, Google, Johnson & Johnson, MSD, UL และ Visa

ดร.สรรเสริญ กล่าวว่า ไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน โดยไทยได้ให้ความมั่นใจแก่สหรัฐฯ เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตลอดจนดำเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวบนฐานเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model และการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

รวมถึงให้ความสำคัญกับกติกาการค้าโลกที่โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่สร้างภาระแก่ภาคธุรกิจในการทำการค้า การขยายตลาดการค้าใหม่ๆ ผ่านการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) การค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมด้านทรัพย์สินทางปัญญา และการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และเศรษฐกิจดิจิทัลในทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมหารือสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน USABC พร้อม 12 บริษัทสหรัฐฯ ย้ำไทยเตรียมพร้อมเปิดประเทศ มีมาตราการรับมือโควิด-19 สร้างความเชื่อมั่นด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เร่งฟื้นฟูและยกระดับขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ ด้านสหรัฐฯ ย้ำจุดยืนเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เหนียวแน่น พร้อมสนับสนุนด้านเทคโนโลยีไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ขอบคุณ ประชาชาติธุรกิจ

สิ้นปี64 แนวโน้มการใช้พลังงานพุ่งสูงตามเศรษฐกิจ

วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า พยากรณ์อ้างอิงสมมุติฐานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไว้ว่า แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2564 จะพุ่งสูงขึ้นตามเศรษฐกิจไทยสิ้นปีนี้โดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 0.7–1.5% จากปัจจัยหลัก คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นปี 2564 เพิ่มขึ้น 0.1% ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาการผลิตเพื่อการส่งออกจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว คาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทยกเว้นการใช้น้ำมัน

สำหรับปี 2564 การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์ คาดว่ามีการใช้เพิ่มขึ้น 3.5% และ 1.8% ตามลำดับ ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าเพิ่มขึ้น 11.7% ในขณะที่การใช้ LPG ในภาคครัวเรือน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.9% ภาคอุตสาหกรรมและการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.3% และ 11.5% ตามลำดับ ขณะที่ภาคขนส่งคาดว่ามีการใช้ลดลง24.0% ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าการใช้จะเพิ่มขึ้น 3.5% ส่วนการใช้ไฟฟ้า จะมีการใช้ไฟฟ้าลดลงเล็กน้อยที่ 0.4%

ในปัจจุบันราคา LPG คาร์โก้ถือว่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยกระทรวงพลังงานมีนโยบายจะตรึงราคาก๊าซ LPG ให้ได้ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ดังนั้น คงต้องจับตาดูว่าราคา LPG ตลาดโลกจะเป็นอย่างไร รวมทั้งอาจมีการขยายกรอบวงเงินดูแลราคา LPG ประมาณ 2.1–2.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากเดิมในกรอบ 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อลดผลกระทบผู้บริโภคจากราคา LPG ปรับสูงขึ้น เพราะปัจจุบันใช้เงินชดเชยราคา LPG ไปแล้วกว่า 17,431 ล้านบาท เหลือเงินเพียง 569 ล้านบาท ซึ่งไม่อาจดูแลราคา LPG ได้จนถึงสิ้นเดือนธ.ค.2564 ซึ่งตามมติเดิมของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2564 ที่กำหนดให้ตรึงราคา LPG ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ไปจนถึง 31 ธ.ค.2564 โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้ขยายกรอบวงเงินบัญชี LPG เพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท จากกรอบเดิม 1.8 หมื่นล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมีกรอบวงเงินที่สามารถใช้ชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้รวมไม่เกิน 20,000 ล้านบาท โดยจะสามารถใช้ตรึงราคา LPG ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เพื่ออุ้มราคาไปถึงเดือนม.ค.2565

โดยกระทรวงพลังงานพิจารณาแนวทางปรับขึ้นราคา LPG แบบขั้นบันได ไตรมาสละ 1 บาทต่อกิโลกรัม จาก 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ไปเป็น 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จากการตรึงราคา LPG ตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 ที่แต่เดิมกำหนดจะดำเนินการแค่ระยะสั้น แต่เมื่อโควิด-19 ระบาดรุนแรงขึ้นจึงตรึงราคามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าช่วยเหลือมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว

ด้านบริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) หรือ PTT  นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า จะช่วยผู้ที่มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง จากการขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อย อาทิ กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนเงิน 100 บาท/คน/เดือน ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564 จากที่ได้ช่วยเหลือตั้งแต่เดือนตุลาคม2562 โดยคิดเป็นมูลค่าการช่วยเหลือแล้วกว่า 10 ล้านบาทแล้ว

ทั้งนี้ต้นปีหน้าราคาน้ำมันโลกจะปรับลดลงหรือไม่ หากราคาปรับลดลง กระทรวงพลังงาน อาจมีการพิจารณาเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ จากผู้ใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นก็เป็นได้ โดยจะต้องดูสถานการณ์ที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อประชาชน ซึ่งฐบาลควรเตรียมมาตรการรับมือทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อไม่ให้กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศที่จำนวนประชากรผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลังราว 13.65 ล้านคน และอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ขอบคุณ : กรุงเทพธุรกิจ