LOGO Goo Invest
Categories
ข่าวหุ้น

ข่าว หุ้น ธุรกิจ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564

ข่าวหุ้น เศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน Goo Invest Trade

ข่าวหุ้นล่าสุด ข่าวเด่นวันนี้ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564

อีลอน มัสก์ทุบสถิติเศรษฐีโลกที่เงินลดลงไปกว่า 1.6 ล้านล้านบาทภายในสองวัน! หลังราคาหุ้นเท

     สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มูลค่า บริษัท “เทสลา อิงค์” (Tesla Inc.) ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐ ตามการประเมินจากราคาตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลงเกือบ 175,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 5.7 ล้านล้านบาท ขณะที่หุ้นของเทสลาร่วงหนักสุดในรอบ 14 เดือน ติดต่อกัน 2 วันรวดนับจากต้นสัปดาห์ (8 พ.ย.) หลังจากที่ นายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ก่อตั้งและนายใหญ่ของบริษัททวีตโยนหินถามทางเมื่อวันเสาร์ (6 พ.ย.) ส่งสัญญาณว่าจะขายหุ้นที่ตนเองถืออยู่ในเทสลาออกไปสัก 10%  ภายในเวลาเพียง 2 วันที่ราคาหุ้นของเทสลาดิ่งลงติดต่อกันในช่วงต้นสัปดาห์ ความร่ำรวยของ “อีลอน มัสก์” มหาเศรษฐีนักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่ได้ชื่อว่า “รวยที่สุดในโลก” ใน ทำเนียบ Bloomberg Billionaires Index ก็วูบหายไปทันที 50,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.6 ล้านล้านบาท

     ราคาหุ้นของเทสลาที่ดิ่งลงครั้งนี้ เป็นความสูญเสียที่ทำให้กระจ่างชัดขึ้นมาเพราะแม้กระนั้น อีลอน มัสก์ ก็ยังคงครองอันดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในทำเนียบ Billionaires Index ของบลูมเบิร์กอยู่ดี โดยเขายังคงมีทรัพย์สินมากกว่า นายเจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) มหาเศรษฐีอันดับสองอยู่ถึง 83,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2.7 ล้านล้านบาท

      โดยความมั่งคั่งที่หายไปในช่วงเวลาสองวันของอีลอน มัสก์ นายใหญ่ของค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา ถือเป็นสถิติใหม่ของทำเนียบมหาเศรษฐี Billionaires Index ของบลูมเบิร์ก เป็นความสูญเสียในช่วงเวลาสองวันที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา นอกจากนี้ ยังเป็นความมั่งคั่งที่หดลดลง “มากที่สุดภายในวันเดียว” นับตั้งแต่ที่มีการจัดอันดับกันมา โดยครั้งที่หดแรงที่สุดก่อนหน้านี้ คือเมื่อคราวที่นายเจฟฟ์ เบซอส เจ้าพ่ออี-คอมเมิร์ช “แอมะซอน” หย่ากับภรรยาในปี 2561 ครั้งนั้นเบซอสจ่ายค่าหย่าให้อดีตภรรยาไป 36,000 ล้านดอลลาร์     

 

 

     ทำให้มูลค่าหุ้นของเทสลาที่หายไปมากกว่า 10% ภายในช่วงเวลาสั้น ๆนั้น (หุ้นเทสลาร่วงลงมากถึง 12% เมื่อวันอังคาร หลังจากปรับตัวลดลงที่ 4.8% เมื่อวันจันทร์) มีต้นตอมาจากการที่นายมัสก์ออกมาทวีตขอความเห็นจากผู้ที่ติดตามทวิตเตอร์ของเขาเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า เขาควรจะขายหุ้นบริษัทเทสลาของเขาเองสัก 10% เพื่อเอาเงินมาจ่ายภาษีดีหรือไม่ ? เพราะตัวเขาเองนั้นโดนโจมตีว่าเสียภาษีน้อยเกินไปจากการที่เขาร่ำรวยมาจากสินทรัพย์ที่เป็นหุ้นเป็นส่วนใหญ่  จากนั้นก็ตามมาด้วยข่าวที่ว่า น้องชายของมัสก์ก็ขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทเหมือนกันก่อนที่เขาจะมาทวีตขอความเห็นเสียอีกเท่านั้นยังไม่พอ ที่ช่วยย้ำซ้ำเติมให้เรื่องราวทั้งหมดดูย่ำแย่เข้าไปอีก คือการออกมาให้ความเห็นของนายไมเคิล เบอร์รี นักลงทุนที่มีชื่อเสียงรายหนึ่งที่ออกมาให้ความเห็นผ่านสื่อว่า มัสก์อาจจะอยากขายหุ้นเพื่อเอาเงินมาใช้หนี้สินส่วนตัว

       ทั้งนี้สำหรับผู้ที่เป็นห่วงสถานะความร่ำรวยของนายมัสก์ บลูมเบิร์กเผยว่า นอกจากหุ้นเทสลาแล้ว มัสก์ยังมีหุ้นในบริษัทต่างๆ มากมายที่เขาก่อตั้งไว้หรือเป็นผู้บริหาร เช่นบริษัท นูราลิงค์ ผู้สรร์สร้างนวัตกรรมด้านประสาทเทคโนโลยี  และบริษัทสเปซเอ็กซ์ ที่กำลังมุ่งบุกเบิกยานสำรวจอวกาศเพื่อการท่องเที่ยว ดังนั้น มัสก์จึงยังคงครองตำแหน่งบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยทรัพย์สินสุทธิราว ๆ 338,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 11 ล้านล้านบาท

 

ขอบคุณ: ฐานเศรษฐกิจ

ราคาทองคำพุ่งแรง

   สัญญาทองคำในตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนวันที่ 29 ต.ค.2564 โดยถูกกดดันจากการที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ทำให้สัญญาทองคำที่กำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้น และไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ ซึ่งสัญญาทองคำตลาด COMEX   ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 18.7 ดอลลาร์ หรือ 1.04% ปิดที่ 1,783.9 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวลงราว 0.7% ในสัปดาห์นี้ แต่เพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนต.ค. โดยสัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 17.1 เซนต์ หรือ 0.71% ปิดที่ 23.949 ดอลลาร์/ออนซ์ , สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 3.2 ดอลลาร์ หรือ 0.31% ปิดที่ 1,020.7 ดอลลาร์/ออนซ์, สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 9.10 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1,980.30 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาทองคำถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.82% แตะที่ 94.1169

   สำหรับการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐเมื่อคืนนี้เป็นไปอย่างไร้ทิศทางกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนก.ย. แต่ชะลอตัวจากระดับ 1.0% ในเดือนส.ค. ขณะที่รายได้ส่วนบุคคล ลดลง 1.0% ในเดือนก.ย.โดยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE ทั่วไป พุ่งขึ้น 4.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2534 โดยดัชนี PCE ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงานรวมถึงดัชนี PCE พื้นฐาน ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐาน เพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนก.ย. สอดคล้องกับเดือนส.ค.

    ทั้งนี้ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 71.7 ในเดือนต.ค. จากระดับ 72.8 ในเดือนก.ย.

 ขอบคุณ : ฐานเศรษฐกิจ

ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงในขณะที่เงินดอร์ล่าแข็งตัวขึ้น

      ราคาทองวันนี้พฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2564 เมื่อเวลา 09.28 น. พุ่งพรวดเดียว 400 บาท เมื่อเทียบกับประกาศราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายของวันพุธ โดยที่ตลอดทั้งวันมีการประกาศราคาทองทั้งหมด 4 รอบ รวมราคาปรับลดลงเล็กน้อย 50 บาท ราคาซื้อขายทองคำในประเทศชนิด 96.5% วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2564 (ประกาศครั้งที่ 1) โดยราคาทองรูปพรรณ ขายออกบาทละ 29,200 บาท รับซื้อบาทละ 28,091.48 บาท และราคาทองแท่ง ขายออกบาทละ 28,700 บาทรับซื้อบาทละ 28,600 บาท ซึ่งราคาทองคำ Spot เช้านี้เคลื่อนไหวที่บริเวณ 1,844 ดอลลาร์ 

     หลังจากราคาทองคำโคเม็กซ์ปิดตลาดเมื่อคืนที่ผ่านมาพุ่งขึ้น 17.5 ดอลลาร์ สู่บริเวณ 1,848.3 ดอลลาร์ เนื่องมาจากได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี ราคาทองคําฮ่องกงเปิดตลาดเช้านี้เพิ่มขึ้น 200 ดอลลาร์ฮ่องกง สู่ระดับ 17,190 ดอลลาร์ฮ่องกง

 

      ทั้งนี้ราคาซื้อขายทองคำในประเทศชนิด 96.5% เมื่อวันพุธที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาพบว่า (ประกาศครั้งที่ 4 ครั้งสุดท้าย) ราคาทองรูปพรรณ ขายออกบาทละ 28,800 บาท รับซื้อบาทละ 27,697.32 บาท และราคาทองแท่ง ขายออกบาทละ 28,300 บาท รับซื้อบาทละ 28,200 บาท

 

ขอบคุณ : กรุงเทพธุรกิจ

บอร์ดอีวี เล็งลดภาษีนำเข้า EV ยุโรป-ญี่ปุ่นเหลือ 0% แลกขึ้นไลน์ผลิตรถพลังงานไฟฟ้าในไทย

      กระทรวงการคลัง เตรียมปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ เริ่มใช้ในปี พ.ศ.2569 โดยแบ่งพิกัดการปล่อยไอเสียให้ยิบย่อยเข้มข้นกว่าเดิม รถกินน้ำมันอย่างอีโคคาร์ และไฮบริดโดนหนัก ด้าน “บอร์ดอีวี” เล็งลดภาษีนำเข้า EV จากต่างประเทศเหลือ 0% แต่บริษัทนั้นต้องมีแผนประกอบในประเทศภายใน 3 ปี ด้านค่ายญี่ปุ่นโวย EV จีนได้ 0% แต่ไม่ต้องมีเงื่อนไขลงทุน ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน วางเป้าหมายให้ประเทศไทยผลิตรถพลังงานไฟฟ้า EV ถึง 30% จากกำลังผลิตทั้งหมดในปี 2573 จากนั้นในปี 2578 รถใหม่ที่จะขายในไทยต้องเป็น EV 100% โดยวางแผนสนับสนุนให้เกิดการผลิต และการใช้เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันนี้ ผ่านนโนบายทางด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี พร้อมวางโครงสร้างพื้นฐาน ขยายสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าสาธารณะให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

      บอร์ด อีวี ยังพิจารณาแผนสร้างดีมานด์ในหลากหลายทางเลือก พร้อมขยายสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าสาธารณะให้เพิ่มขึ้น โดยกำหนดให้มีสถานีแบบ Fast Charge (DC) ทั้งหมด 12,000 หัวจ่าย ทั่วประเทศภายในปี 2573  เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์รถพลังงานไฟฟ้าไปให้ถึงจุดหมาย บอร์ด อีวี วางแผนเร่งให้มี EV ทำตลาดมากขึ้นในราคาที่เข้าถึงได้ง่าย โดยมีแผนลดภาษีนำเข้า EV จากทุกแหล่งผลิตในต่างประเทศให้เหลือ 0% ปัจจุบันที่ EV แบรนด์ยุโรปเสียภาษีนำเข้า 80% ญี่ปุ่น 20% และเกาหลีใต้ 40% มีเพียง EV จีนที่ได้ 0% จนสามารถทำราคาได้น่าสนใจ ทั้ง เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเดิมนำเข้า Ora Good Cat ราคา 9.89 แสน-1.19 ล้านบาท MG EP ราคา9.88 แสนบาท และ MG ZS EV ราคา 1.19 ล้านบาท (รุ่นปัจจุบันหมดสต๊อกแล้ว รอรุ่นไมเนอร์เชนจ์เปิดตัวต้นปี 2565) ตลอดจนค่ายรถยนต์แบรนด์ยุโรปเลือกนำเข้า EV จากจีนมาทำตลาด เช่น BMW iX3 ราคา 3.399 ล้านบาท และ Volvo XC40 Pure Electric ราคา 2.59 ล้านบาท

       การลดภาษีนำเข้า EV ที่มาจากประเทศอื่นๆ ให้เป็น 0% นอกเหนือจากจีน จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการ 1 มกราคม 2565 แต่ภายใต้แผนของบอร์ดอีวี ยังมาพร้อมเงื่อนไขว่า บริษัทรถยนต์นั้นๆ ต้องมีแผนผลิต EV ในประเทศไทยภายในระยะเวลาที่กำหนด (รอยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ต้องผลิตภายใน 2 หรือ 3 ปี หลังจากขอใช้สิทธิ์ภาษีนำเข้า 0%)

       รายงานข่าวจากกรมสรรพสามิตระบุว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีในเดือนธันวาคมนี้จะมี 2 ส่วนคือ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทั้งระบบที่ให้สิทธิภาษีต่างๆ ทั้งรถยนต์ไฮบริด อีโคคาร์ หรือ รถยนต์ปกติ จะหมดอายุลงในปี 2568 ดังนั้นจึงต้องประกาศโครงสร้างภาษีใหม่ที่จะให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2569 จึงต้องหารือกับผู้ประกอบการถึงทิศทางอุตสาหกรรมรถยนต์ในอีก 5 ปีข้างหน้าว่า จะต้องส่งเสริมการใช้รถยนต์ไปในทิศทางไหนและต้องประกาศล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัวและปรับปรุงกระบวนการผลิต ขณะเดียวกันในช่วง 5 ปี ก่อนที่สิทธิภาษีต่างๆ จะหมดลง รัฐบาลต้องการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV ให้เกิดเร็วขึ้นและมีการใช้มากขึ้น จึงต้องมีการเสนอการปรับโครงสร้างภาษีรถอีวีอีกชุดหนึ่งแยกต่างๆหากด้วย

       ที่หารือกันจะเป็นการยกเลิกภาษีนำเข้า EV จากยุโรปและญี่ปุ่นให้เหลือ 0% เท่ากับ EV จีน เพื่อให้มีการนำเข้ามามากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่ทางการกำหนดด้วย อย่างไรก็ตาม การลดภาษีนำเข้า EV ให้เป็น 0% แต่ผู้ประกอบการรายนั้นต้องมีแผนประกอบในประเทศ ถือเป็นเงื่อนไขที่ บีโอไอ กำหนดไว้ตั้งแต่แรกในแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุน เพียงแต่โควตานำเข้าที่ได้ (กี่คัน) จะสอดคล้องกับจำนวนเงินลงทุน โดยเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จะเป็นบริษัทแรกที่เริ่มใช้สิทธิประโยชน์นี้ กับ EV รุ่น EQS ที่พร้อมนำเข้ามาเปิดตัวปลายปี 2564 (แต่ยังไม่ส่งมอบ) จากนั้นจะเริ่มประกอบในประเทศต้นปี 2565 ซึ่ง EQS รุ่นประกอบในประเทศจะเป็นตัวที่ส่งมอบให้แก่ลูกค้าชาวไทยดังนั้น ค่ายรถยนต์ที่ยื่นแผนส่งเสริมการลงทุนต่อบีโอไอในการผลิต EV ในไทย เช่น โตโยต้า ฮอนด้า มิตซูบิชิ นิสสัน อาวดี้ มาสด้า สามารถใช้สิทธิ์นำเข้า EV โดยไม่เสียภาษีนำเข้าได้เช่นกัน

       บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น กล่าวว่า การสนับสนุน EV จากญี่ปุ่นด้วยการไม่เก็บภาษีนำเข้าถือเป็นเรื่องดี แต่ยังมีเงื่อนไขการลงทุนบังคับไว้ ต่างจากค่ายรถจีนที่ได้ลดภาษีนำเข้า EV เป็น 0% ทันที ซึ่งจากนี้ไปจะมีหลายบริษัทใช้ช่องทางนี้ในการเปิดตลาด EV ในไทย ขณะที่โครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จะใช้ในปี 2569 จะมีผลกับรถยนต์นั่งที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) รวมถึง อีโคคาร์ และรถไฮบริด ที่จะมีการขึ้นภาษีปีละ 2-3% รวมถึงแบ่งพิกัดไอเสียที่มีผลต่อการเสียภาษีสรรพสามิตให้ละเอียดมากขึ้น โดยจะมุ่งส่งเสริม EV ขณะที่รถปลั๊ก-อินไฮบริด จะนำระยะทางวิ่งมากำหนดการเสียภาษีสรรพสามิต

       ด้านแบรนด์นำเข้าจากเกาหลี “เกีย” นางสาวฬสนันท์ ภูนิธิพันธุ์กุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทยนตรกิจ เกีย มอเตอร์ จำกัดเปิดเผยว่า หากภาครัฐฯลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเป็น 0% ถือเป็นนโยบายที่น่าสนใจ เพราะเกียมีรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าในรุ่น เกีย โซล อีวี ที่ปัจจุุบันจำหน่ายอยู่ที่ 2.387 ล้านบาท ซึ่งหากมีการลดภาษีจริงก็คาดว่าจะทำให้ราคาลดลงประมาณหลักแสนบาท แต่ถ้ามาพร้อมเงื่อนไขต้องลงทุนตั้งโรงงานในไทย คาดว่าบริษัท​แม่น่าจะไปลงทุนที่ยุโรปมากกว่า นอกเหนือจากฐานการผลิตในเกาหลี

     ผู้นำเข้ารถยนต์แบรนด์ยุโรปรายหนึ่งเปิดเผยว่า การผลักดันนโยบายลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 0% เป็นการปูทางให้ไทยเป็นฮับของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยต่อยอดและสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต แต่ในมุมของผู้นำเข้ารถยนต์จากยุโรป มองว่าแม้จะลดภาษีนำเข้าเป็น 0% แต่ผู้นำเข้ายังต้องจ่ายภาษีอื่นๆ อยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพสามิต, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีมหาดไทย โดยคงต้องรอดูนโยบายที่ชัดเจนว่าการปรับลดภาษีในครั้งนี้จะหมายรวมถึงส่วนใดบ้าง แต่สิ่งที่กระทบแล้วจากข่าวนี้คือ การที่ลูกค้าอาจจะชะลอการตัดสินใจซื้อ EV ออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจน

ขอบคุณ : ฐานเศรษฐกิจ

สัญญาณฟื้นตัวของหุ้นขนาดใหญ่มากขึ้น เงินเริ่มไหลออกเริ่มชะลอตัวลง หลังคลายล็อกดาวน์

       ชญานี จึงมานนท์นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 6.3 แสนล้านบาท (ณ 31 ต.ค. 2564) เติบโต 5.0% จากสิ้นปี 2563 โดยภาพรวมปีนี้ ช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) กองทุนประเภทดังกล่าวมีเงินไหลออกสุทธิรวม 3.1 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นเงินไหลออกในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ขณะที่ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เม็ดเงินไหลออกเริ่มชะลอลงอย่างชัดเจน เหลือเงินไหลออกสุทธิเพียง 211 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของปีนี้ กองทุนหุ้นขนาดใหญ่มีการลงทุนในเซ็กเตอร์หลัก อย่างเช่น พลังงาน การเงิน สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ยเกือบครึ่งหนึ่งของพอร์ตกองทุน ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศล่าสุด ที่ดีกว่าช่วงกลางปี รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จะส่งเสริมให้การบริโภคฟื้นตัวได้มากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

       ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ภาพรวมดัชนีในตลาดหุ้นตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) จะพบว่าดัชนี mai ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ 62.7% ตามมาด้วย sSET ที่ 46.7% ส่วน SET index ปรับขึ้นมา 12% ขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ใน SET50 ปรับขึ้นมาเพียง 7.6% เท่านั้น  ในช่วงครึ่งปีแรก สถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยออกไปค่อนข้างมาก รวมถึงนักลงทุนรายย่อยในประเทศที่เข้าไปลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็กเพิ่มขึ้น เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ทำให้หุ้นขนาดใหญ่ผลงานไม่ค่อยดีเท่าไหร่นักในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังจากที่มีการเปิดประเทศก็เริ่มที่จะเห็นกระแสเงินทุน (ฟันด์โฟลว์) จากนักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น ทำให้หุ้นขนาดใหญ่ที่ซบเซาเริ่มฟื้นตัว

        มนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวว่า กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ในปีนี้ปีที่โดดเด่นสุด จะเป็นกลุ่มที่อิงไปกับพลังงานโลก (global energy) เนื่องจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิงต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ที่จะเด่นในช่วงที่เหลือของปีนี้ มองว่ากลุ่มที่น่าสนใจจะเป็นกลุ่มธนาคาร เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการประกาศกำไรออกมาค่อนข้างดี และเป็นกลุ่มที่มีการปรับตัวและเห็นถึงการฟื้นตัวดีที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ เริ่มเห็นสัญญาณหลังจากที่นักลงทุนส่วนใหญ่หันมาสนใจในหุ้นกลุ่มที่มีผลประกอบการดี อย่างเช่น กลุ่มธนาคาร ซึ่งก็อยู่ในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ โดยหลังพ้นกลางเดือน พ.ย.ไปแล้ว หรือหลังจากที่มีการประกาศงบดุลของบริษัทจดทะเบียนจนครบแล้ว ก็จะมีการประเมินถึงผลประกอบการในปีหน้า ซึ่งก็เชื่อว่าหุ้นขนาดใหญ่ยังมีโอกาสเติบโตได้ดีอยู่ในช่วงปลายปีไปจนถึงปีหน้า จากความหวังจากเปิดประเทศและการประกาศงบฯของหลาย ๆ บริษัทที่ออกมายังเติบโตเป็นที่น่าประทับใจ

       ทั้งหมดนี้ ชี้ให้เห็นว่าสัญญาณบวกการลงทุนน่าจะดีขึ้นต่อเนื่องได้ หากไม่มีการระบาดที่รุนแรงของไวรัสโควิด-19 กลับมาอีก

 

ขอบคุณ : ประชาชาติธุรกิจ