LOGO Goo Invest
Categories
ข่าวหุ้น

ข่าว หุ้น ธุรกิจ 12 ตุลาคม 2564

ข่าวหุ้น เศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน Goo Invest Trade

ข่าวหุ้นล่าสุด ข่าวเด่นวันนี้ วันที่ 12 ตุลาคม 2564

เคอรี่ จับมือ เบทาโกร คลอดธุรกิจ ขนส่งควบคุมอุณหภูมิครบวงจร ตั้งเป้า เบอร์1 ของไทย

บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  จับมือกับ เครือเบทาโกร ผนึกกำลังทางธุรกิจจัดตั้งบริษัทใหม่ “Kerry Betagro Company Limited” คลอดธุรกิจ” KERRY COOL” ที่แรกของไทยที่ให้บริการขนส่งสินค้าด้วยแพลตฟอร์มการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Delivery Platform) gxHoเทคโนโลยีและบริการที่มีคุณภาพระดับโลก และราคาที่เข้าถึงได้ โดยบริการของ KERRY COOL ได้นำหลักการของวิธีการขนส่งแบบ Hub-and-Spoke มาปรับใช้อย่างเหมาะสมและครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารสดแช่เย็น ไปจนถึงเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์แช่แข็งต่างๆ

นายอเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศของเราต้องการคุณภาพที่ดีสำหรับการขนส่งผลิตภัณฑ์ทั้งแบบแช่เย็นและแช่แข็ง ซึ่งมีความต้องการอยู่ทั่วประเทศ โดยผู้ให้บริการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิส่วนใหญ่เป็นรายเล็กหลายรายในตลาดและยังดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม รวมถึงการบริการยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครบถ้วน ซึ่งรถขนส่งเย็นของเราสามารถเชื่อมต่อข้อมูลของรถทุกคันผ่านระบบดาวเทียมซึ่งทำให้ทราบถึงสถานะการขนส่งแบบเรียลไทม์ และคงอุณหภูมิที่แน่นอนตลอดเส้นทาง ถือเป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่เราพร้อมส่งมอบให้กับลูกค้าและสร้างความโดดเด่นแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นในตลาด คาดว่าบริษัทจะสามารถครองใจลูกค้าด้วยคุณภาพที่เป็นเลิศเสมือนกับมาตรฐานการให้บริการธุรกิจจัดส่งพัสดุด่วนของเรา

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร  กล่าวว่า การผนึกกำลังระหว่างเครือเบทาโกร และ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส เป็นการพัฒนาธุรกิจ “KERRY COOL” บริการขนส่งสินค้าด้วยแพลตฟอร์มแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Delivery Platform) ที่ได้มาตรฐานคุณภาพระดับสากล เพื่อให้ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ทั้งรายใหญ่ และ รายย่อย ได้มีทางเลือก ตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบันในการดำเนินธุรกิจ ส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสู่มือลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการด้วยราคาที่เข้าถึงได้

สำหรับ KERRY COOL เป็น บริษัท เคอรี่ เบทาโกร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมทุนจดทะเบียนขั้นต้น 1 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการลงทุนจากเคอรี่ ร้อยละ 60 และ เบทาโกร ร้อยละ 40 และมีแผนจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท โดยมีพื้นที่ให้บริการของจะครอบคลุมทั้งลูกค้า Walk-In ที่สาขาของเคอรี่ เอ็กซ์เพรส และ ร้านในเครือเบทาโกร รวมถึงช่องทาง D2D booking ซึ่งเป็นบริการเข้ารับพัสดุที่หน้าบ้าน ลูกค้าสามารถจองรถเข้ารับพัสดุได้ด้วยตนเองผ่านทั้งทางแอปพลิเคชั่นมือถือและเว็บไซต์

ทั้งนี้จะเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 ตั้งเป้าหมายยกระดับมาตรฐานการให้บริการขนส่งพัสดุแบบควบคุมอุณหภูมิให้เหมือนกับที่ได้เข้ามาสร้างปรากฎการณ์ในธุรกิจจัดส่งพัสดุด่วนพร้อมกับมอบคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการระดับแนวหน้าและเป็นสากล ในราคาที่คนไทยทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้

ขอบคุณ : Hooninside,ข่าวหุ้น

DPAINT จัดโรดโชว์ออนไลน์ นำเสนอขายหุ้น IPO

DPAINT จัดโรดโชว์ออนไลน์ แสดงวิสัยทัศน์ความเป็นหนึ่งในผู้นำนวัตกรรมสี นำเสนอข้อมูลสรุปการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อแนะนำธุรกิจ และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

นายรณฤทธิ์ ตั้งคารวคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สีเดลต้า จำกัด (มหาชน) หรือ DPAINT กล่าวว่า  บริษัทได้เตรียมนำเสนอข้อมูลธุรกิจในงานโรดโชว์ออนไลน์ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 64 ที่ผ่านมา โดยให้นักลงทุนได้รับทราบเกี่ยวกับรายละเอียดของการดำเนินธุรกิจ จุดเด่น และโอกาสการเติบโตของบริษัทในอนาคต ก่อนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) ภายในเดือนตุลาคมนี้

ซึ่งการเข้าจดทะเบียนในครั้งนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยภายหลังสถานการณ์โควิด-19 มีทิศทางที่ดีขึ้น งานก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์เริ่มขับเคลื่อนเดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้ ส่งผลให้ความต้องการสีทาอาคารเติบโตตามมา จึงมองว่า DPAINT จะเป็นหุ้นคุณภาพสำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาบริษัทซึ่งมีเส้นทางและปัจจัยส่งเสริมการเติบโตที่มั่นคง

โดยผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกปี แม้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและบริการ 596.2 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 41.9 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้น 41.9% อัตรากำไรสุทธิ 7.0% ส่วนภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 64 มีรายได้จากการขายและบริการ 387.7 ล้านบาท เติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อน 31.7% กำไรสุทธิ 32.9 ล้านบาท เติบโต 48.2% อัตรากำไรขั้นต้น 43.3% อัตรากำไรสุทธิ 8.5%.

ทั้งนี้ DPAINT ถิอเป็นผู้นำการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สีทาอาคารที่มีคุณสูง ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเสริมพอร์ต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดสีทาอาคารในประเทศไทยที่มีมูลค่ารวมสูงถึง 20,000 ล้านบาท โดยการระดมทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขีดความสามารถทางการแข่งขัน และเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำตลาดสีด้านนวัตกรรมได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดย DPAINT อยู่ระหว่างเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 53.25 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (Par) 1.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 23.15% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้

ขอบคุณ: ข่าวออนไลน์RYT9

MAKRO เดินหน้าขอไฟลิ่งขาย PO ต่อ หวังเพิ่มฟรีโฟลทเป็น 15% ดันมาร์เก็ตแคปเข้าดัชนี SET50 วางแผนลงทุน 5 ปีใช้งบ 130,000 ล้านบาท

นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ MAKRO กล่าวว่า หลังเสนอขาย PO จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นในมือของรายย่อย (ฟรีโฟลท) เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 15% จากปัจจุบัน 7%  และช่วยให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เพิ่มขึ้น สามารถเข้าไปอยู่ในดัชนี SET50 ได้แน่นอน และแม้รวมกิจการของกลุ่มโลตัสส์เข้ามาในบริษัท แต่ยังคงยึดมั่นการทำธุรกิจที่เป็นคู่คิดทางธุรกิจทุกกลุ่มผู้ประกอบการ พร้อมสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าและร้านค้าปลีกรายย่อย ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงจำหน่ายสินค้าในราคาที่เป็นธรรม

ในการเข้าถือหุ้นและรับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์จะเพิ่มโอกาสการเติบโตจากการขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีประชากรจำนวนมาก เพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

โดยเตรียมงบลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้าสำหรับธุรกิจของ MAKRO และกลุ่มโลตัสส์ 1.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจกลุ่ม MAKRO6 หมื่นล้านบาท และกลุ่มโลตัสส์ 7 หมื่นล้านบาท ใช้พัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ ซึ่งนอกจากการขยายสาขาแล้ว จะหันมาเน้นการลงทุนด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ตั้งเป้าจะขยายสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้รวมภายในช่วง 5 ปีหรือในปี 2568 จากปัจจุบัน 5% ส่วนหนึ่งจะมีการรับรู้รายได้จากสาขาในประเทศมาเลเซียรวมถึงมีแผนขยายสาขาทั้ง MAKRO และโลตัสส์ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากเดิม MAKRO มี 7 สาขาในต่างประเทศ โดยปัจจุบันได้เริ่มศึกษารูปแบบของตลาดทั้งแบบ B2B และ B2C และการลงทุนแบบก่อสร้างใหม่เอง หรือไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่อยู่ในประเทศนั้นด้วย

นางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโครสายงาน Group Shared Service กล่าวว่า การรับโอนกิจการของกลุ่มโลตัสส์ครั้งนี้ จะทำให้บริษัทมีมาร์เก็ตที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมของผลการดำเนินงานของบริษัทที่สามารถรับรู้รายได้ของกลุ่มโลตัสส์ รวมถึงรายได้จากพื้นที่เช่าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ที่มีผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค

หากได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น บริษัทเตรียมยื่นขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)เพื่อเสนอขายหุ้น PO คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยที่ผู้ถือหุ้นเดิมคือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด ที่ได้รับหุ้น PP จากการรับโอนกิจการดังกล่าว จะร่วมเสนอขายหุ้นสามัญที่ถืออยู่ในบริษัทด้วยบางส่วน พร้อมกับการทำ PO ในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย

ทั้งนี้หลังประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกครั้งใหญ่ของ “เครือซีพี” ให้บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (MAKRO) รับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH) ที่ถือหุ้นในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (CPRD) ในสัดส่วน 99.99% และ CPRD ถือหุ้นสัดส่วน 99.99% ในบริษัท โลตัสส์สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ Lotus’s ในประเทศไทย และถือหุ้นสัดส่วน 100% ใน Lotuss Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ Lotus’s ในประเทศมาเลเซียด้ว

ขอบคุณ: ฐานเศรษฐกิจ

“เถ้าแก่น้อย” โมเดลโรงงานต้นแบบป้องกันโควิด19 เดินหน้าขยายกิจการในจีน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่านมามีผลกระทบทุกบริษัทหนึ่งในนั้นก็คือ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)    ทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุขออกมตราการต่างๆมา ทำให้ทุกบริษัทต้องดำเนินการตามแนวทางปฎิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ โดยจัดหาที่พักให้กับพนักงานทั้งในและนอกโรงงาน จัดทำทะเบียนพนักงาน พัฒนาโปรแกรมในโทรศัพท์มือถือมาใช้ในการกำกับดูแลพนักงาน สามารถระบุสถานที่หรือเวลาพนักงานทำงานอยู่ รวมถึงระบุที่นั่งบนรถรับ-ส่งพนักงาน และจำกัดที่นั่งไม่เกิน 50%

               สำหรับบริษัทเถ้าแก่น้อย  ได้ปรับมาตรการเชิงรุกและให้ความสำคัญการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  จนได้รับเกียรติบัตรสถานประกอบกิจการที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาอยุธยาโมเดล ถือเป็นโรงงานต้นแบบมาตรฐานในการจัดการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ภายใต้ “เศรษฐกิจเดินหน้า อยุธยาปลอดภัย ทุกภาคส่วนร่วมใจ ห่างไกลโควิด” จากหน่วยงานราชการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

               นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากการปรับมาตรการเชิงรุกในการบริหารจัดการภายในโรงงานผลิต ส่งผลดีต่อกระบวนการผลิตสินค้าในโรงงานและความสามารถการผลิตสินค้า ล่าสุดได้ทยอยติดตั้งเครื่องจักรใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิต รองรับคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ปัจจุบัน TKN มียอดคำสั่งซื้อจากจีนเฉลี่ย 150-170 ตู้คอนเทนเนอร์ และได้ร่วมกับคู่ค้าวางแผนบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์เพื่อแก้ไขปัญหาค่าระวางการขนส่งสินค้าทางเรือและตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 500%

ซึ่งแนวโน้มตลาดในไตรมาสสุดท้ายนี้ คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หลังจากที่บริษัทเร่งปรับกลยุทธ์การจัดจำหน่ายในประเทศจีน เพื่อรองรับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่กำลังฟื้นตัว ส่งผลให้มียอดคำสั่งซื้อทยอยกลับมาตั้งแต่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 

 ทั้งนี้ในการปรับกลยุทธ์การขายในประเทศจีนโดยการเพิ่มตัวแทนจำหน่ายสินค้า ปัจจุบันเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่ดี เห็นได้จากออเดอร์ที่เข้ามาตั้งแต่ช่วงต้นครึ่งปีหลัง 2564 แต่บริษัทไม่สามารถตอบสนอง Supply สินค้าได้ทันตามออเดอร์ที่เข้ามา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 หลังจากได้วางมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 ภายในโรงงาน ส่งผลให้แนวโน้มดีขึ้นในไตรมาส 4/64 ประกอบกับบริษัทได้สั่งซื้อเครื่องจักรใหม่เพิ่มเติม ทำให้สามารถเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าได้ทันกับความต้องการของลูกค้าในจีนได้

ขอบคุณ: ฐานเศรษฐกิจ