LOGO Goo Invest
ข่าวหุ้น เศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน Goo Invest Trade

ข่าวหุ้นล่าสุด ข่าวเด่นวันนี้ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564

มุ่งเจาะกลุ่ม SME เปิดตลาดหุ้นปักกิ่ง วันแรก

       ตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่ง หรือ Beijing Stock Exchange ของจีน ออกแถลงการณ์ กล่าวว่า  พร้อมเปิดให้บริการคาดว่าจะมีบริษัทกลุ่มแรกจำนวน 81 แห่งที่เริ่มการซื้อขายหุ้นแต่วันจันทร์ที่ 15 พ.ย. เป็นต้นไป ตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่งเปิดตัวขึ้นหลังจากที่จีนประกาศแผนการจัดตั้งตลาดหุ้นแห่งใหม่เมื่อ 2 เดือนก่อน ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีภายหลังการประกาศ เนื่องจากมุ่งแก้ปัญหาทางการเงินอันซับซ้อนที่มีมายาวนานของบรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

        โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งใหม่นี้เป็นการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศจีน (NEEQ) หรือ ที่รู้จักกันในชื่อตลาดหุ้นแห่งที่ 3 (New Third Board) และจะมีบทบาทที่แตกต่างออกไปจากตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และตลาดหลักทรัพย์เสิ่นเจิ้น รวมถึงจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์สองแห่งนี้ด้วย

       การประกาศจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่ง ได้กระตุ้นความสนใจและความกระตือรือร้นของตลาดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา บรรดานักลงทุนและบริษัทต่างๆ ต่างจับตาดูความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดและแข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณสมบัติในการซื้อขายหุ้น  ตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่งระบุว่า มีนักลงทุนรายใหม่กว่า 2.1 ล้านคนยื่นสมัครเป็นนักลงทุนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัตร (Qualified Investor) พร้อมเสริมว่าจำนวนนักลงทุนที่เข้าเงื่อนไขจะทะลุ 4 ล้านคนหลังตลาดเริ่มการซื้อขาย

        นอกจากนี้ยังเผยว่า มีบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้แล้ว 112 แห่ง โดยมีระเบียบปฏิบัติจำนวน 6 ฉบับ ร่วมกับแนวปฏิบัติอื่นๆ อีก 45 ข้อที่เคยออกในก่อนหน้านี้ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นระบบการกำกับดูแลตนเองของตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่ง ที่มีการกำหนดกฎระเบียบต่างๆ ด้านการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ รวมไปถึงการจัดหาเงินทุน การกำกับดูแล และการซื้อขาย และอื่นๆ

       หลี่ ตงซวี่ กรรมการผู้จัดการบริษัทสินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์จีน (China Securities) กล่าวว่า บริษัทกลุ่มแรกเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่ง ในการเป็นตลาดซื้อขายแห่งหลักสำหรับธุรกิจเชิงนวัตกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และบริษัทกลุ่มแรกนี้ล้วนเป็นบริษัทชั้นนำในแต่ละภาคส่วน ที่มีทั้งผลประกอบการที่ดีและศักยภาพการเติบโตสูง

        โดยบริษัทเหล่านี้ครอบคลุมอุตสาหกรรมหลัก 25 ประเภทในหลากหลายภาคส่วน เช่น การผลิตระดับสูง บริการเทคโนโลยีระดับสูง และอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่เพิ่งเกิดใหม่ โดยยอดใช้จ่ายเฉลี่ยในด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัทเหล่านี้อยู่ที่มากกว่า 25.36 ล้านหยวน หรือ ราว 130 ล้านบาท  ในขณะที่มีบริษัทจำนวนมากเข้าคิวรอเสนอซื้อขายหุ้นแก่สาธารณชน หรือ ไอพีโอ (IPO) ตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่งก็จะปรับปรุงการกำกับดูแลการดำเนินงานและคุณภาพของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด รวมถึงออกมาตรการเพื่อเสริมสร้างการตรวจสอบก่อนการจดทะเบียน แจกแจงภาระความรับผิดชอบของสถาบันตัวกลางและบริษัทที่จดทะเบียน รวมไปถึงสร้างช่องทางที่ราบรื่นสำหรับการเพิกถอนบริษัทจดทะเบียนจากตลาดหลักทรัพย์

        ทั้งนี้พบว่าบรรดาผู้สังเกตการณ์มองว่า การเปิดซื้อขายในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่ง พร้อมสนับสนุนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามปรับตัวให้ทันและเปิดกว้างมากขึ้น รวมถึงทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมตลาดที่ดี เพื่อเอื้อให้ตลาดหุ้นใหม่นี้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

ขอบคุณ : กรุงเทพธุรกิจ

ขายเกลี้ยงหมดในครึ่งชม.พันธบัตรออมวอลเล็ต สบม.ออมไปด้วยกัน ชี้หากต้องการสามารถซื้อผ่าน 4 แบงก์ตัวแทนได้

       วันที่ 15 พ.ย.64 เวลา 08.50 น.  Krungthai Care ได้แจ้งว่า “ขอขอบคุณ ที่สนับสนุน พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นออมไปด้วยกัน จำหน่ายเต็มวงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับประชาชนที่พลาดโอกาสการซื้อ พันธบัตรออมทรัพย์ วอลเล็ต สบม.รุ่นออมไปด้วยกัน  ยังสามารถซื้อผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดจำหน่ายในวงเงินรวม 55,000 ล้านบาท ซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2564 ลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท ไม่จำกัดวงเงินซื้อขั้นสูง มีให้เลือก 2 รุ่น คือรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ได้รับอัตราดอกเบี้ย เท่ากับ พันธบัตรออมทรัพย์ วอลเล็ต สบม. ในรุ่นเดียวกัน คือ 5 ปี เฉลี่ยที่ 2.10 % ต่อปี และ 10 ปี เฉลี่ยที่ 3.00% ต่อปี

        นอกจากนี้ยังเปิดจำหน่ายให้แก่นิติบุคคลไม่แสวงหากำไร วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท มีเฉพาะรุ่นอายุ 10 ปี เปิดจำหน่ายตั้งแต่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค. 2564 ดอกเบี้ยคงที่ 2.20% จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยจำหน่ายเฉพาะช่องทางเคาน์เตอร์ธนาคารทั้ง 4 แห่ง

         จากกรณีที่กระทรวงการคลังเปิดจำหน่วยพันธบัตรออมทรัพย์รุ่น “ออมไปด้วยกัน” วงเงินจำหน่าย 8 หมื่นล้านบาท โดยประชาชนสามารถเลือกลงทุนได้ 2 รุ่นอายุ และซื้อได้ทั้งในวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง และธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง โดยในครั้งนี้กระทรวงการคลังได้เพิ่มวงเงินจำหน่ายเป็น 80,000 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ลงทุนทุกกลุ่ม และจ่ายดอกเบี้ย ให้ประชาชนทุก 3 เดือน ประชาชนสามารถเลือกลงทุนได้ 2 รุ่นอายุ และซื้อได้ทั้งในวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง และธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง โดยการลงทุน “พันธบัตรออมทรัพย์” รุ่น “ออมไปด้วยกัน” บน “วอลเล็ต สบม.” ผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง”

  1. พันธบัตรรุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (เฉลี่ย 10% ต่อปี)

          ปีที่ 1 : 1.50% ต่อปี

          ปีที่ 2-4 : 2.00% ต่อปี

          ปีที่ 5 : 3.00% ต่อปี

       2.พันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (เฉลี่ย 00% ต่อปี)

          ปีที่ 1-3 : 2.00% ต่อปี

          ปีที่ 4-5 : 3.00% ต่อปี

          ปีที่ 6-9 : 3.50% ต่อปี

          ปีที่ 10 : 4.00% ต่อปี

          วันที่จำหน่าย คือ จำหน่ายผ่าน วอลเล็ตสะสมบอนด์มั่งคั่ง (วอลเล็ต สบม.) ในแอปพลิเคชันเป๋าตัง ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 จนถึงเวลา 15.00 น. ของวันที่ 3 ธันวาคม 2564 (ผู้มีสิทธิซื้อต้องลงทะเบียนผ่าน วอลเล็ต สบม. ก่อน จึงจะสามารถทำรายการซื้อพันธบัตรได้

         ผู้มีสิทธิ์ซื้อ ในตลาดแรก คือ บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (ผู้ที่มีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อนการซื้อพันธบัตร ณ สาขาธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

        วันที่จ่ายดอกเบี้ย คือ จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ในวันที่ 15 ของเดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม สิงหาคม และพฤศจิกายน ของทุกปี จนกว่าพันธบัตรจะครบกำหนดไถ่ถอน โดยจ่ายดอกเบี้ยงวดแรกในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565

การทำธุรกรรมภายหลังการซื้อพันธบัตรผู้ถือกรรมสิทธิ์สามารถดำเนินการผ่านวอลเล็ต สบม. ได้แก่

      –  การใช้พันธบัตรเป็นหลักประกันให้กระทำได้หลังจากวันที่ทำรายการซื้อ 2 วันทำการ

      –  การขายพันธบัตรก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน และการโอนกรรมสิทธิ์ให้กระทำได้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

         ทั้งนี้ ไม่สามารถทำธุรกรรมได้ตั้งแต่วันปิดสมุดทะเบียนเพื่อจ่ายคืนเงินต้นตามที่ ธปท. ประกาศกำหนดการทำธุรกรรมภายหลังการซื้อพันธบัตรไม่เสียค่าธรรมเนียม ยกเว้นการใช้พันธบัตรเป็นหลักประกันมีค่าธรรมเนียม การออกใบค้ำประกัน 500 บาท รายการธุรกรรมต่างๆ จะปรากฏในวอลเล็ต สบม. เท่านั้น ไม่สามารถนำไปรวมกับพันธบัตรอื่น ๆ ในสมุดพันธบัตร (Bond Book) ได้

ขอบคุณ : ฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ ประชาชาติธุรกิจ

ตลาดหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสที่จะรีบาวด์

        นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสที่จะรีบาวด์ขึ้นได้ หลังการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนออกมาเกือบจะหมดแล้ว ซึ่งออกมาก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ตลาดคาด และในไตรมาส 4/64 ถึง ปี 65 ก็คาดว่าจะดีขึ้น

       นอกจากนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันก็ลดลงมาก วันนี้มีจำนวน 6,300 กว่าราย ต่ำกสุดในรอบ 4 เดือน น่าจะช่วยหนุนหุ้น Domestic play และกลุ่ม Reopening ได้

      ในส่วนการปรับน้ำหนักลงทุนของ MSCI ออกมาแล้วก็ไม่ได้กระทบตลาดฯมาก และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นก็ทำให้มีโอกาสที่ Fund Flow ไหลเข้า โดยเช้านี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาที่ 32.68 บาท/ดอลลาร์ฯ แข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน

        ทั้งนี้ราคาน้ำมันปรับฐาน และค่าการกลั่นที่ปรับตัวลงไปมาก ทำให้กลุ่มพลังงานอาจจะมากดดันตลาดฯได้ ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบในกรอบแคบ ในช่วงรอดูทิศทางต่าง ๆ จากฝั่งสหรัฐฯ ส่วนบ้านเราก็ติดตามการทยอยประกาศงบฯต่อไปในส่วนที่เหลือที่ยังไม่ออกมา และรอดูภาครัฐฯจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มอีกหรือไม่ รวมถึงติดตามทิศทางการเมืองในประเทศด้วยพร้อมให้แนวรับ 1,630-1,628 จุด ส่วนแนวต้าน 1,640-1,645 จุด

 

ขอบคุณ : นักข่าวอินโฟเควสท

ส่องหุ้นถุงมือยาง STGT

        บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT เป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดของประเทศ และอันดับ 3 ของโลก โดย STGT เพิ่งจะเข้ามาโลดแล่นในตลาดหุ้นไทยได้ไม่นานราวๆ 1 ปี โดยลงสนามซื้อขายวันแรก เมื่อ 2 ก.ค. 2563 เปิดเทรดที่ 55.25 บาท เพิ่มขึ้น 62.5% จากราคาไอพีโอ 34 บาท จากนั้นราคาหุ้นค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นมาต่อเนื่อง ตามแนวโน้มผลประกอบการที่สดใส หลังมียอดออเดอร์ถุงมือยางหลั่งไหลมาจากทั่วโลก

       จนราคาหุ้นขึ้นไปทำจุดสูงสุดของปี 2563 ที่ 94.50 บาท เมื่อวันที่ 29 ต.ค. จากนั้นในช่วงปลายปีเริ่มมีการปรับฐานลงมา หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ขณะที่การพัฒนาวัคซีนมีความคืบหน้ามากขึ้นต่อมาบริษัทประกาศแตกพาร์จากราคาหุ้นละ 1 บาท เหลือ 0.50 บาท โดยเริ่มซื้อขายวันแรกด้วยราคาพาร์ใหม่เมื่อ 5 ม.ค. 2564 ถือว่าออกสตาร์ทได้ดี ราคาหุ้นเริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง หลังเกิดการระบาดระลอกใหม่จากเชื้อสายพันธุ์เดลตา ซึ่งรอบนี้สถานการณ์ดูรุนแรงยิ่งกว่าเดิม จนต้องล็อกดาวน์รอบใหม่ หนุนหุ้น STGT ขึ้นไปทำออลไทม์ไฮรอบใหม่ที่ราคาพาร์ใหม่ 49 บาท (หากคิดเป็นราคาพาร์เก่าอยู่ที่ 98 บาท) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. แต่จากนั้นราคาหุ้นเริ่มเปลี่ยนทิศอีกครั้ง หลังการฉีดวัคซีนครอบคลุมขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มองกันว่าถุงมือยางอาจไม่ได้จำเป็นเท่ากับช่วงที่เกิดการระบาดแรกๆ

       นอกจากดีมานด์ที่ชะลอตัวลงแล้ว ในฝั่งซัพพลายมีกำลังการผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หลายบริษัทในต่างประเทศที่ก่อนหน้านี้ต้องปิดโรงงานเพราะโควิดระบาดหนัก กลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง ทำให้ราคาถุงมือยางทั้งโลกเริ่มปรับตัวลดลง

        โดยผลประกอบการงวดล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 4,532.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 4,404.8 ล้านบาท แต่ลดลง 37.7% จากงวดไตรมาสก่อนที่ 7,280.1 ล้านบาท เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของราคาถุงมือยาง โดยราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 1,531 บาทต่อพันชิ้น หรือ 46.7 ดอลลาร์ ลดลง 32.5% จากไตรมาสก่อน ตามราคาถุงมือยางในตลาดโลกที่อ่อนตัวลง ซึ่งราคาถุงมือยางที่ปรับตัวลดลง กลายเป็นปัจจัยหลักที่กดดันธุรกิจของ STGT การเติบโตของรายได้กำไรอาจไม่ได้ร้อนแรงเท่ากับช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ราคาหุ้นค่อยๆ ปรับตัวลดลงมาต่อเนื่อง เรียกว่าพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเทียบกับช่วงที่ขึ้นไปพีคสุดๆและทำให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่า ตกลงแล้วจุดสูงสุดของบริษัท ทั้งผลประกอบการและราคาหุ้นได้ผ่านพ้นไปหรือยัง? STGT ยังน่าสนใจยังมีเสน่ห์อยู่หรือไม่? หรือ บริษัทจะปรับตัวอย่างไร? ล้วนแต่เป็นสิ่งที่นักลงทุนอยากรู้หากดูจากมุมมองของนักวิเคราะห์ ต้องบอกว่าเสียงยังแตก มีความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยบล.ทรีนีตี้ ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ระบุว่าเริ่มเห็นสัญญาณที่ทรงตัวของราคาถุงมือยาง เชื่อว่าราคาน่าจะต่ำสุดแล้วในเดือน ธ.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม ได้ปรับประมาณการกำไรปี 2564-2565 ลงเหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท และ 9 พันล้านบาท ตามลำดับ จากสมมติฐานราคาถุงมือยางที่ปรับลดลง ในส่วนของบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง แนะนำ “ถือ” มองว่าราคาถุงมือยางในไตรมาส 4 ปี 2564 จะลดลงอีก 25% จากไตรมาสก่อน ทำให้กำไรยังเป็นขาลงอีกไตรมาส ขณะที่ฝั่งอุปสงค์ลดความร้อนแรงลงจากพัฒนาการของวัคซีนและยารักษาโควิด ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ของอุตสาหกรรม

        ทั้งนี้ด้านบล.เคทีบีเอสที แนะนำ ขายจากราคาขายถุงมือยางในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง ตามกำลังการผลิตถุงมือยางโลกที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 30-35% ในปี 2565 ขณะที่การพัฒนายาต้านไวรัสโควิดเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อราคาขายถุงมือยาง ส่งผลให้ EPS ปี 2565 ปรับตัวลดลง 60% โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่า valuation ของ STGTจะยังคงเทรดที่ discount ไปจนกว่าจะเห็นราคาขายถุงมือยางกลับเข้าสู่ดุลยภาพ

ขอบคุณ : กรุงเทพธุรกิจ

กองทุนช่วยประหยัดภาษี  SSF และ RMF 2 กองทุนแตกต่างอย่างไร

      ในการลดหย่อนภาษี 2564 พลาดไม่ได้กับ 2 กองทุนช่วยประหยัดภาษี นั่นคือ กองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF โดย 2 กองทุนมีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ไม่ได้แตกต่างกันนัก คือลงทุนได้ทั้ง หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนทองคำ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ แตกต่างก็ตรงการลงทุนใน SSF จะซื้อหน่วยลงทุนเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ ตัวอย่าง กองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท และต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ ไม่กำหนดขั้นต่ำ ในการซื้อ และไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
             ในส่วนของผู้ลงทุนกองทุน RMF ซื้อหน่วยลงทุนเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก และขายได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ไม่กำหนดขั้นต่ำในการซื้อ แต่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยซื้อปีเว้นปี
ของทุน SSF และ RMF เหมาะกับวัยทำงานที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แต่ต้องการประหยัดภาษี และอยากลดหย่อนภาษีด้วยการลงทุนโดยหวังผลตอบแทนในระยะยาว หรือต้องการเตรียมความพร้อมด้านการเงินก่อนเกษียณอายุจากการทำงาน

     ส่วนการพิจารณาเลือกลงทุนกองทุน SSF หรือ RMF ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการลงทุน อายุของผู้ลงทุน รายได้และเงินเก็บ ดังนี้
     หากเน้นการออมเงินระยะยาวประมาณ 10 ปี ควรเลือกลงทุนใน SSF เพราะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อครบ 10 ปี โดยไม่ต้องรอจนอายุถึง 55 ปีเหมือน RMF
เป้าหมายเพื่อเตรียมเงินสำหรับการเกษียณอายุ ควรเลือก RMF เพราะนอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีแล้ว ยังตอบโจทย์การทยอยเก็บเงินไว้ใช้ตอนเกษียณ เนื่องจากเป็นการลงทุนต่อเนื่องทุกปี และสามารถลงทุนตั้งแต่อายุน้อย ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้เงินงอกเงยในระยะยาว
หากมีอายุต่ำกว่า 45 ปี มีเงินลงทุนไม่สม่ำเสมอ ก็อาจเลือกลงทุนในกองทุน SSF เพราะเป็นการลงทุนแบบก้อนต่อก้อน ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี แต่ต้องลงทุนยาว 10 ปี
       หากอายุ 45 ปี สามารถเลือกลงทุนได้ทั้งแบบกองทุน SSF หรือ RMF เพราะมีระยะเวลาถือจนครบกำหนด 10 ปีไม่ต่างกัน
ส่วนอายุ 47 ปี หรือ 50 ปีขึ้นไป การเลือกลงทุนในกองทุน RMF จะใช้ระยะเวลาในการลงทุนที่สั้นกว่า เพราะถือเพียง 5 – 8 ปีก็สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ ไม่ต้องถือจนครบกำหนด 10 ปี เหมือน SSF

ขอบคุณ ฐานเศรษฐกิจ